"ในปี 2545 สื่อฝรั่งมาสัมภาษณ์เรา พอบทความลงไปก็มีชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทผลิตยาต้านมาลาเรียควินิน
ชื่อบริษัท Pharmakina สนใจที่จะผลิตยา GPO vir ที่โรงงานของเขาในคองโก
เพื่อช่วยเหลือพันักงานของบริษัทที่ติดเชื้อ HIV"
ก้าวแรกที่ย่ำเท้าลงแผ่นดินคองโกหญิงร่างท้วมแทบจะตกใจช็อกตายด้วยความตื่นตระหนก
เนื่องจากไม่เคยคิดว่าตนเองจะมาตกอยู่ในสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธ์
"มันรบกันจริงๆ รบกันตลอดเวลา กลางคืนก็ยังรบ คนที่รู้จักเขาบอกว่าเธอควรจะกลับมาได้แล้ว
แถบนั้นไม่มีใครเขาอยากไปกันหรอก แต่เราก็ไป"
กฤษณาเดินทางไปยังเมือง Bukavu ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน โดยไม่มีอะไรเลยนอกจากสัมภาระติดตัวเล็กน้อย
ที่ตรงนั้นไม่มีองค์กรใดๆ ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนมาเกี่ยวข้อง
เนื่องเพราะเป็นเรื่องของคนกับคนที่จะช่วยเหลือกัน
เมื่อไปถึงกฤษณาต้องเขียนแปลนสร้างโรงงานขึ้นใหม่บนเนินเขาเอง
เภสัชกรยิปซีต้องคัดเอาคนท้องถิ่นที่คิดว่าพอจะไปวัดไปวาได้
มารับฟังการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยา GPO vir
โดยจะสอนตั้งแต่การคำนวณสูตรยา ขั้นตอนการควบคุมคุณภาพยา
ไปจนถึงรายละเอียดการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ
โดยในตอนแรกจะลองทำให้ดูเป็นตัวอย่าง หลังจากนั้นจะให้เป็นฝ่ายทำเอง
จนกระทั่งผู้คนเหล่านั้นสามารถผลิตยาใช้ได้ด้วยตัวเอง
กฤษณาได้เดินทางไปทำแบบนี้ในประเทศต่างๆ ในแอฟริกา
จนถึงขณะนี้ บุรุนดีเป็นประเทศที่ 15 แล้วที่เภสัชกรคนไทยไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาให้
ทุกคร้งที่ถ่ายทอดเคล็ดลับ กฤษณามีเงื่อนไขโดยการให้ผู้นั้นเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่า
จะต้องให้ยาเข้าถึงผู้คนในราคาที่ถูกกำหนดไว้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องไม่สูงเกินไปนัก